มาตรการ QE คืออะไร (Quantitative Easing)

มาตรการ QE คืออะไร (Quantitative Easing)

 

QE มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน ย่อมาจากคำว่า Quantitative Easing เป็นนโยบายด้านการเงินที่ไม่เป็นแบบแผน ที่ดำเนินการโดยธนาคารกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์ในกรณีที่นโยบายทางการเงินที่เป็นแบบแผนตามปกตินั้นเริ่มไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจได้ โดยการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ จากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินของเอกชนทั้งในและนอกประเทศ มาตรการ QE เป็นที่รู้จักว่าเป็นการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติม (Printing Money) ซึ่งก็คือเม็ดเงินใหม่ๆ ที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั่นเอง สามารถใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันการเงินสามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วย QE ถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็คือการเพิ่มเพดานหนี้นั่นเอง

 

คราวที่แล้วธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ (Bank of Japan) จัดหนักประกาศมาตรการ QE ล่าสุดได้ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ (ระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม 2556) ว่า GDP เติบโตถึง 3.5% นับว่าประสบความสำเร็จมากสำหรับญี่ปุ่น เพราะเศรษฐกิจแย่มานาน ว่ากันว่าผลการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ได้มาจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีซินโซ อาเบะ ที่ให้มีการพิมพ์ธนบัตรออกมาครึ่งหนึ่งของ GDP ของประเทศ ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงกว่า 20% ล่าสุดรัฐบาลต้องการให้ BOJ ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา เพราะขณะนี้ภาคส่งออกและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นชะลอตัวลง

Bernanke

Mr.Bernanke

จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมการธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรส เมื่อ 22 พฤษภาคม 2556 ได้ส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก จากการคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสรุปได้ว่า

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดกำลังช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้น แต่จะชะลอมาตรการก็ต่อเมื่อเฟดได้เห็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแรงหนุนมากกว่านี้

2. เฟดอาจตัดสินใจปรับลดวงเงินในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตรา 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะรักษาแรงผลักดันได้ต่อไป

3. เฟดได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดประจำวันที่ 30 เมษายน 2556 – 1 พฤษภาคม 2556 ระบุว่า “ผู้เข้าร่วมการประชุมหลายคนระบุว่า ความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในตลาดแรงงาน,ความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นต่อแนวโน้มในอนาคตหรือความเสี่ยงในช่วงขาลงที่เบาบางลงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่เฟดจะชะลออัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้” แสดงให้เห็นว่าเฟดยังคงตั้งเงื่อนไขไว้สูงในการชะลอมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

มาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

QE1 ปี 2552-2555 เกิดการล่มสลายของระบบการเงินในยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้ครอบครองพันธบัตรคงคลังระหว่าง 700-800 พันล้านเหรียญ ก่อนเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ช่วงปลายปี 2551 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เริ่มเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง มูลค่ารวม 600 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ปี 2552 ระดับหนี้ตราสารทางการเงินและพันธบัตรคงคลังเพิ่มขึ้น 1.75 ล้านล้านเหรียญ เดือนมิถุนายน 2553 เพิ่มเป็น 2.1 ล้านล้านเหรียญ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางแห่งเอเชียได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เข้าไปดูแลและแทรกแซงค่าเงิน

QE2 เดือนพฤศจิกายน 2553 ธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าซื้อพันธบัตรคงคลังมูลค่า 600 พันล้านเหรียญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

QE3 เดือนกันยายน 2555 วางแผนเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง(Mortgage-backed securities : MBS) มูลค่า 40 พันล้านเหรียญต่อเดือน คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน Federal Open Market Committee (FOMC) ได้ประกาศที่จะคงระดับอัตราดอกเบี้ยได้ที่ระดับใกล้ศูนย์ต่อไปจนถึงปี 2558

QE4 13 ธันวาคม 2555 เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังเพิ่มเติมอีก 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน จากเดิมใน QE3 เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ในตลาดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ในวงเงิน 40,000 ล้านเหรียญฯต่อเดือน ส่งผลให้ “เฟด” ปล่อยเงินเข้าระบบต่อเดือนเพิ่มจากเดิมรวมเป็น 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหตุผลคือต้องการขยายผลการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องนอกจากนโยบายการเงินและเสถียรภาพด้านราคา “เฟด” ถูกกำหนดไว้ให้ดูแลการจ้างงานของประเทศด้วย เนื่องจากประเทศมีการจ้างงานต่ำมาก “เฟด” จึงออกมาตรการเพิ่มการจ้างงาน เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศ

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

เมื่อมีการพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก จะทำให้เงินเหล่านั้นทะลักเข้าไปลงทุนเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมันและอาหาร ทำให้สินค้าปรับตัวขึ้น กำลังซื้อของประชาชนลดลง อาจมีการไหลเข้าของเงินทุนของต่างชาติอย่างมหาศาล จะส่งผลต่อค่าเงินของประเทศที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้มีการเก็งกำไรค่าเงินที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน การส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ช่วงนี้เราจึงได้เห็นข่าวผู้ที่มีส่วนรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ อย่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) เฝ้ามองและเตรียมออกมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน เพราะถ้าหาก GDP ของประเทศไทยเราซึ่งส่วนใหญ่มาจากการส่งออก (Export) ซึ่งมีทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร เงินบาทแข็ง 1 บาท GDP จะหายไปประมาณ 0.7% ส่วนจะมีมาตรการอะไรออกมาบ้างนั้นก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไป ปรับตัวกันไปตามอัตถภาพ

 

Comments
  1. nattha_007

    เขียนไว้แล้วนะคะ http://www.isstep.com/monetary-policy/

Leave a Reply to nattha_007 Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.