เถียงนา

เมื่อเอ่ยถึงเถียงนา  เกิดคำถามตาม  อะไรคือเถียงนา  “เถียงนา” มีความหมายเหมือนกับ ”โรงนา”  ของภาคอื่นๆ  แต่สำหรับชาวอีสานในชนบทเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน แต่ละครอบครัวจะสร้างที่พักอาศัยชั่วคราว ในการทำนา ตั้งแต่ เริ่มไถ,หว่าน จนกระทั้งเก็บเกี่ยวผลิตผล  ซึ่งเรียกสิ่งปลูกสร้างนี้ว่า “เถียงนา” ในระยะนี้ชาวนาอีสานมักจะยกครอบครัว อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ไม้สอยออกไปอาศัยอยู่ในเถียงนาเกือบตลอดเวลา  จึงทำให้เถียงนาในฤดูนี้มีชีวิตชีวา  จนดูเสมือนจะเป็นบ้านที่สองของชาวอีสานเลยทีเดียว  แต่เมื่อพ้นฤดูทำนาแล้วเถียงนาก็จะเต็มไปด้วยความเงียบเหงา  แห้งแล้ง  เหลือทำหน้าที่เพียงเป็นที่พักผ่อนในบางโอกาสของคนเดินทาง  และคนที่ออกไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเท่านั้น

teangna2

ทำไปต้องเป็น “เถียงนา”  เนื่องจากเถียงนาเป็นเพียงที่พักอาศัยชั่วคราวดังกล่าวแล้ว  โดยทั่วๆไปจึงมักจะไม่ค่อยมีพิธีรีตรองมากนักในเรื่องความเชื่อแต่เท่าที่มีอยู่ก็เฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่สูงอายุเป็นส่วนใหญ่โดยจะทำพิธีบนเพื่อบอกกล่าวเจ้าที่  เจ้าทาง  ขออนุญาตปลูกสร้างเถียงนาก่อนและในบางแห่งจะสมมติเหตุการณ์ขึ้นเป็นการถือเคล็ดก่อนปลูกสร้างเถียงนาคือสมมติให้คน  2 คน  ออกไปในนาตรงที่จะปลูกสร้าง  แล้วให้ถกเถียงกันอย่างรุนแรง  ทำเสียงให้ดังมากๆ  หรืออาจถึงขั้นต่อสู้ชกต่อยกันเลยก็ได้  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นเรื่องร้ายแรงมารบกวน  ไปถึงผีป่าหรือวิญญาณที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้เกิดความรำคาญ หรือเกิดความกลัวจนต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น  จึงทำให้บริเวณที่จะสร้างเถียงนานั้นมีความสวย  ร่มเย็น  ปราศจากอันตรายต่างๆ  เป็นต้น  จากนั้นจึงจะเริ่มลงมือสร้างเถียงนาและถ้าใครไม่มีเถียงนาเป็นของตนเองแล้ว  คนอีสานบางกลุ่มก็จะเชื่อกันว่าคนนั้นจะเป็นคนยากจนในอนาคต  ดังนั้นเถียงนาจึงจำเป็นที่ทุกครัวเรือนอีสานที่ทำนาจะต้องสร้างไว้ในนาของตนเสมอ

ประโยชน์ของเถียงนา

  • เป็นที่พักคนเดินทาง
  • เป็นที่นอนพักค้างคืนเวลาออกหาปลา, จับเขียด,จับกบในเวลากลางคืน
  • เป็นที่พักขณะออกไปเลี้ยงวัวควาย  ในเวลากลางวัน
  • เป็นที่พักผ่อนของคนที่ว่างงานตอนพ้นหน้าเกี่ยวข้าวแล้ว  เพราะที่เถียงนาจะโล่งแจ้ง  เย็นสบายในเวลากลางวัน  ทั้งยังเป็นที่สงบเงียบ  จนคนอีสานพูดติดปากว่า “นอนโสกัน” คือนอนพูดคุยกันเล่นนั่นเอง

 

 

 

อ้างอิง

สมชายนิลอาธิ.(2541).วิถีความคิด วิถีชาวนาอิสาน.มหาสารคาม : อาศรมวิจัยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยามหาสารคาม.

 

 

Leave A Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.