เหตุผลก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์กับโครงการรถยนต์คันแรก

นโยบายภาษีรถยนต์คันแรก

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “คืนภาษีรถยนต์คันแรก” ก่อนตัดสินใจใดๆ  อยากให้ลองศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจค่ะ การซื้อรถยนต์ใหม่ คนส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อเงินสด  จึงต้องผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ดังรายละเอียดคัดมาบางส่วนจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

            ผู้เช่า จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เมื่อไรก็ได้  โดยการส่งมอบรถยนต์คืน ด้วยความสมัครใจเอง ตามมาตรา ๕๗๓ (โปรดสังเกตว่า กฎหมายใช้คำว่า “ผู้เช่า”  ไม่ใช่ “ผู้เช่าซื้อ”  หมายความว่าระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์อยู่นั้น  ให้ถือว่าผู้เช่าซื้อเป็นแต่เพียง “ผู้เช่า” 

หากผู้เช่า จะส่งคืนรถยนต์ให้เจ้าของ  เพื่อไม่ให้เสียเปรียบหรือเกิดปัญหาในภายหลัง  จึงควรตกลงทำสัญญากันไว้ว่า เจ้าของได้รับรถยนต์คืนในสภาพเรียบร้อยดีและเป็นที่พอใจแก่หนี้แล้ว  พร้อมไม่ประสงค์เรียกร้องค่าเสียหายอีกต่อไป  เมื่อไม่มีข้อตกลงดังกล่าว  จะเสียเปรียบ  เจ้าของอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้เช่าได้ถ้าเขาได้รับความเสียหาย เช่น ค่าเช่าที่ค้าง ค่าซ่อมแซม  ค่ารถเสื่อมสภาพ  และค่ารถราคาต่ำกว่าควร  เป็นต้น ตามมาตรา ๔๒๐

ส่วนค่าเสียหายที่ไกลเกินเหตุเรียกไม่ได้  เช่นค่าติดตามรถ  ค่าดำเนินการในการประมูลและค่าเสียโอกาส  เป็นต้น  ดังนั้นผู้เช่าควรต้องตกลงกับเจ้าของเกี่ยวกับค่าเสียหายให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนคืนรถยนต์ 

            นโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ถ้ามองในภาพรวมคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ก็มีมาก รถยนต์ 1 คัน ประกอบไปด้วยวัตถุดิบที่มาจากหลากหลาย มีธุรกิจที่ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือที่เรียกว่า ห่วงโซ่อุปทาน  จากอุตสาหกรรมรถยนต์  ประโยชน์ทางตรง  เช่น  มีการจ้างงานสูงขึ้น  วัตถุดิบทางตรง  ชิ้นส่วน อุปกรณ์  ฯลฯ   ประโยชน์ทางอ้อมคือ คนซื้อรถยนต์หวังเงินคืนภาษีต้องขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษี  รัฐก็มีโอกาสได้รับภาษีเพิ่ม  แต่ข้อเสียชองนโยบายคือ การซื้อรถยนต์ ไหนจะตามมาด้วย ค่าประกัน  ค่าจดทะเบียน  ซ่อมบำรุง  ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น และถ้าไม่มีกำลังผ่อน ก็จะมาพร้อมกับหนี้ NPL ที่ธนาคารจะต้องแบกรับ   

       รถป้ายแดง

     สำหรับคนที่ซื้อเป็นเงินสด  จะได้ผลประโยชน์จากนโยบายเต็ม  100%  แต่สำหรับคนที่ต้องการซื้อเงินผ่อน ถ้าดาวน์น้อย ผ่อนนาน ก็เทียบเท่ากับการนำเงินคืนภาษีไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยก็เท่ากับไม่ได้เงินคืนภาษี  การซื้อเงินผ่อนถ้ามีเงินดาวน์น้อยต้องมีคนค้ำประกัน  ตรงนี้สำคัญเพราะถ้าไม่รักษาเครดิต ผ่อนๆ ไปแล้วหยุด จะสร้างความเสียหายให้คนที่ค้ำประกันได้  เดือดร้อนตัวเองไม่พอ ทำให้คนอื่นเสียหายอีก คนที่กำลังเป็นผู้จะค้ำประกันก็ให้คิดให้ดีๆ  ก่อนตัดสินใจค้ำประกันให้ใคร  เพราะถ้าเสียเครดิตแล้วจะไปทำอะไรในอนาคตก็ลำบาก เช่น กู้ซื้อบ้าน เป็นต้น   ข้อควรพิจารณาว่าสมควรซื้อหรือไม่   

  1. ค่าผ่อนรถ (ขั้นต่ำ 5,000 บาท +  ค่าน้ำมัน (ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน)
  2. ประกันชั้น 1  ราคา  15,000  บาท / ปี
  3. พรบ. + ภาษี  ราคา  2,500  บาท/ปี
  4. เช็คระยะทาง ถ่ายน้ำมันเครื่อง  2,000  บาท / 6 เดือน
  5. เปลี่ยนยางทุก 3-4 หมื่น กิโล  ประมาณ 10,000  บาท 
  6. ถ้าใช้สิทธิเข้าโครงการ “คืนภาษีรถยนต์คันแรก” มีกฎว่าห้ามเปลี่ยนเจ้าของภายในระยะเวลา  5  ปี

เหตุผลทั้ง 6  ข้อ  สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่คิดแค่อยากได้คืนภาษีแล้วตัดสินใจซื้อ  ไม่ใช่คิดเข้าข้างตัวเองว่ายังไงก็ต้องซื้อเดี๋ยวเสียโอกาส ไม่ใช่คิดเข้าข้างตัวเองว่าซื้อก่อนแล้วค่อยไปคิดว่าจะหาเงินผ่อนยังไง แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจ   ตรึกตรองให้รอบคอบ   อย่าโทษใคร   ความคิดเรา  ตัวเรา ไม่มีใครบังคับ ถ้ามีกำลังทรัพย์มากพอที่จะผ่อนได้มันก็เป็นข้อดี  แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็รอให้พร้อมก่อนค่อยซื้อ  ไม่ต้องเสียดายเงินแสน  แต่อยากให้เสียดายความสุขที่ต้องสูญเสียไป พร้อมกับความทุกข์ที่ต้องเผชิญเมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายเข้าตำรา อยากมีเหมือนเขา  อาจทุกข์กว่าตอนเราไม่มี  “ไม่มีเหมือนเขา  ไม่ได้หมายความว่าเราสุขน้อยกว่า”

 

Leave A Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.